กระบวนการผลิตผ้าใบพลาสติก

ผ้าใบพลาสติก ผ้าบลูชีท หรือผ้าฟาง มีกระบวนการผลิตเริ่มต้นจากเม็ดพลาสติกคุณภาพสูง จากนั้นจึงนำเส้นพลาสติกชนิด PP (Polypropylene) หรือ PE (Polyethylene) นำมาสานกันเป็นผืนผ้า โดยสีของพลาสติกที่เป็นที่นิยมได้แก่ สีฟ้า สีฟ้าขาว สีเงิน และ สีดำ ขนาดของผ้าใบพลาสติกนั้นมีหลายขนาด โดยการวัดขนาดนั้นนิยมใช้หน่วยวัดเป็น หลา หรือเป็นเมตร หรือบางครั้งก็ใช้ทั้งสองหน่วยพร้อมกัน เช่นขนาดความกว้างระบุเป็นเมตร แต่ความยาวระบุเป็นหลา เป็นต้น สำหรับความหนาจะระบุเป็น แกรม (gsm) ซึ่งย่อมาจาก Gram Per Square Metre ยิ่งแกรมมากก็แปลว่ายิ่งหนา แต่ก็หมายถึงราคาที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย หากใครเจอผ้าใบพลาสติกที่มีความหนามากแต่ราคาถูกก็ต้องระวังว่าผ้าใบนั้นอาจผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือเม็ดเก่าได้

เมื่อผ้าใบถูกทอเป็นผืนเรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็จะนำมาเคลือบลามิเนต (laminate) โดยมีทั้งแบบเคลือบด้านเดียวและแบบเคลือบทั้งสองด้าน เพื่อให้สามารถป้องกันน้ำได้ดี ผ้าใบจะมีความเรียบลื่น มีความเหนียว ฉีกขาดยาก ทนทานสูง ทำให้สามารถใช้งานผ้าใบพลาสติกได้อย่างยาวนาน และช่วยให้ทำความสะอาดง่าย ไม่ควรใช้สารเคมีหรือขัดผ้าใบเพื่อทำความสะอาดเพราะอาจทำให้สารที่เคลือบกันน้ำหลุดออกได้ ผ้าใบแบบไม่เคลือบก็มีเช่นกัน ซึ่งส่วนมากมักจะนำไปใช้เพื่อกันลมกันฝุ่นในบริเวณก่อสร้าง หรือใช้เป็นม่านบังตา ในกระบวนการผลิตอาจมีการเติมส่วนผสมของสารป้องกันแสงอัลตราไวโอเลต (UV) ซึ่งช่วยยืดอายุการใช้งานท่ามกลางแสงแดด

เมื่อผ่านการเคลือบลามิเนตเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำผ้าใบไปพับขอบและเย็บขอบทั้ง 4 ด้าน เพื่อป้องกันการฉีกขาดหลุดรุ่ย การเย็บขอบนี้อาจทำให้ขนาดของผ้าใบคลาดเคลื่อนไปเล็กน้อยจากขนาดที่ระบุไว้ เพราะบางครั้งผู้ผลิตจะระบุขนาดของผ้าใบก่อนที่จะมีการเย็บขอบนั่นเอง เมื่อเย็บขอบเรียบร้อยแล้วจะนำไปเจาะตาไก่ทั้ง 4 มุมเพื่อให้สามารถร้อยเชือกและนำไปขึงได้ หากผู้ผลิตขายเป็นม้วนหรือเป็นมัดก็มักจะไม่มีการเย็บขอบ หรือเจาะตาไก่ แต่หากมีการเจาะตาไก่ก็จะเจาะเป็นระยะ เช่น ทุกระยะ 1 เมตร เป็นต้น สำหรับการเจาะตาไก่ ควรเป็นตาไก่เคลือบกัลป์วาไนซ์ (Galvanized Eyelet) เพื่อป้องกันการเกิดสนิม สำหรับการใช้งานผ้าใบพลาสติกกลางแจ้งที่ต้องเจอน้ำหรือฝนเป็นประจำ

เท่านี้การผลิตผ้าใบพลาสติกก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ผู้ซื้อสามารถระบุความต้องการของผ้าใบพลาสติกได้ ไม่ว่าจะเป็นขนาด สี การเคลือบลามิเนต หรือการเจาะตาไก่ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์มากที่สุด